
WP Rocket ปลั๊กอินพรีเมี่ยมสำหรับการทำ Cache ให้กับเว็บ WordPress ที่ทุกคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง WP Rocket ไม่เพียงแต่จัดการในส่วนของแคช แต่ยังเพิ่มการ Opimize ส่วนต่างๆ ที่มีปัจจัยส่งผลต่อความเร็วของเว็บเราได้ เป็นปลั๊กอินที่พัฒนาตามเทรนการ Optimize เว็บไซต์อยู่เสมอ ช่วยลดการลงปลั๊กอินเสริมได้หลายตัวเลยทีเดียว ซึ่งหากเราลองปลั๊กอินอื่นแล้วได้ผลดี ปลั๊กอินฟรีมีหลายตัว ก็ใช้ได้นะ เว็บ WordPress นี่แทบจะเรียกได้ว่า ลางเนื้อชอบลางยา กันเลยทีเดียว แต่จริง ๆ หากเราสามารถระบุปัญหาได้ ก็จะสามารถเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมมาแก้ไขได้แบบไม่เสียเวลาในการงมมากกเกินไป
WP Rocket เวอร์ชั่น 3.7 นี้ดูเหมือนไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่สิ่งที่เพิ่มมานี้กลับเป็นสิ่งที่ว๊าวมาก ๆ นั่นก็คือ
- Delaying JS Execution ดีเลย์ JS บางตัวที่ไม่จำเป็นต้องรีบใช้งาน
- Preloading Pages Before Click โหลดข้อมูลไว้ก่อนที่จะเกิดการคลิกลิงค์
จะเห็นว่า WP Rocket ไม่ได้แค่ทำในส่วนของความเร็วอย่างเดียว แต่ยังใส่ใจในส่วนของ User Experience หรือประสบการณ์การใช้งานของผู้ชมด้วย
Delaying JS Execution
อันนี้จะอยู่ในเมนู File Optimization เป็นการดีเลย์ JS บางตัวที่ไม่จำเป็นต้องรีบใช้งาน เพื่อช่วยให้หน้าเว็บแสดงผลได้เร็วที่สุดก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยโหลดมันทีหลัง คล้าย ๆ กับการทำ Lazyload กับพวกไฟล์รูปภาพนั่นเอง คือโหลดเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้งานก่อน เราสามารถกรอกเป็น Keyword, ชื่อไฟล์ หรือโดเมนก็ได้ เมื่อระบบตรวจเจอก็จะทำการดีเลย์ให้เอง รวมไปถึงการเรียกไฟล์จากเซิฟเวอร์ข้างนอกด้วย ซึ่ง WP Rocket จะใส่พวกพื้นฐานมาหลายตัวเลยทีเดียว ส่วนใหญ่ก็พวก Social ทั้งหลายที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานก่อนอยู่แล้ว เราสามารถที่จะใส่ของเราเพิ่มเองได้ อย่างพวกป๊อปอัพที่แสดงภายหลังก็สามารถย้ายไปโหลดทีหลังแทน เป็นต้น

PRELOAD LINKS
อยู่ในเมนู Preload ตัวนี้เป็นลูกเล่นที่นำเอาเทคนิค Link prefetching มาใส่เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ชมโดยเฉพาะ นั่นคือ เมื่อมีการเลื่อนเม้าส์ไปวางเหนือลิงค์ (Hover) หรือการแตะ (Touch) หน้าจอเกิน 100ms ระบบจะทำการโหลดลิงค์นั้นมาไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหากผู้ชมทำการคลิกลิงค์นั้นขึ้นมาจริง ๆ ก็จะทำให้หน้าเว็บพร้อมโหลดได้ทันที ช่วยทำให้เรารู้สึกว่ามันกดปุ๊บก็ขึ้นมาเลย แต่ไม่ได้มีผลในการทดสอบ Speed Test นะครับ เพราะมันก็ใช้เวลาโหลดหน้าของมันเท่าเดิม แต่อันนี้เป็นเพียงแค่เป็นการโหลดมาไว้ก่อนนั่นเอง ทำงานเฉพาะกับลิงค์ภายในเว็บ เสียดายที่บราวเซอร์ที่รองรับตอนนี้มีแต่ Chrome เท่านั้น หวังว่าจะมีบราวเซอร์อื่นๆ รองรับในอนาคต

ส่วนอีกอันเล็ก ๆ ที่เพิ่มมาตาม Google นั่นก็คือการเพิ่ม font-display:swap
ในไฟล์ CSS ที่มีการใช้งาน font-face
ที่มา : https://wp-rocket.me/blog/wp-rocket-3-7/
จุดเด่นของ WP Rocket
จากที่จะแนะนำเฉพาะในส่วนที่อัพเดต ก็จะขอแนะนำ WP Rocket เพิ่มไปด้วยเลยแล้วกัน สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักว่ามันเป็นยังไง ถือว่าเป็นการอัพเดตข้อมูลใหม่แทนบทความหลักที่เขียนด้วยเวอร์ชั่นเก่ากว่า
Easy to use ใช้งานง่าย
ในทุกการตั้งค่าจะมีปุ่ม NEED HELP? เมื่อเราคลิกก็จะมีคำอธิบายและคำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งค่านั้น ๆ ให้ทันที (แต่ไม่มีภาษาไทยนะ) เป็นสิ่งที่ปลั๊กอินอื่นไม่ค่อยมี และเราก็อยากให้มีแบบนี้ มันคือความใส่ใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้ผู้ใช้งานอย่างเรารู้สึกคุ้มค่า งงตรงไหนก็สามารถอ่านหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อได้ง่าย ไม่ต้องงมแบบไร้ทิศทาง แม้จะไม่ได้ง่ายแบบคคลิกเดียวก็เร็วเลย แต่เมื่อเทียบกับฟังชั่นที่มีเยอะในตัวขนาดนี้ก็ถือว่าทำออกมาได้ไม่สับสนมึนงงเวลาใช้งาน

การตั้งค่าที่จะว่ายากหรือ Advanced ขึ้นมาหน่อยก็น่าจะเป็นการที่เราต้องกรอกชื่อหรือที่อยู่ของไฟล์ JS/CSS เอง เวลาที่เว็บพัง เพื่อบอกให้ WP Rocket ไม่ต้องทำการบีบอัดไฟล์เหล่านั้น ซึ่งปกติถ้าไม่พังก็แทบไม่ต้องแตะในส่วนนี้ อย่างตัว Jqurey ที่ธีมและปลั๊กอินจำนวนมากยังจำเป็นต้องใช้อยู่ ก็สามารถติ๊กเลือก Safe mode for Jquery ได้เลย เมื่อมีปัญหาจริง ๆ ก็ให้ดูตามคำแนะนำว่าจะหาไฟล์ที่มีปัญหาได้ยังไง
Integrated ทำงานร่วมกับคนอื่น
WP Rocket ปรับแต่งให้รองรับบริการที่เกี่ยวข้องที่มีคนใช้บริการมาก ๆ เสมอ เช่น Cloudflare, WP Engine, FlyWheel, Cloudways, Kinsta, Pressable, Vanish ปลั๊กอินจะรู้และปรับให้สามารถใช้งานร่วมกันกับบริการเหล่านั้นได้อย่างราบรื่นมากขึ้น โดยที่เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ตัว Cloudflare ต้องกรอกนะ จะได้เคลียร์แคชจากที่เว็บเราได้เลย

และก็ยังรองรับปลั๊กอินอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบีบอัดรูปภาพด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักอีกอย่างหนึ่งของการทำให้เว็บโหลดเร็ว แม้ว่า WP Rocket จะมี Imagify เป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่เราก็สามารถใช้กับปลั๊กอินอื่นเพื่อแสดงไฟล์ภาพแบบ WebP ได้ ทั้งจาก ShortPixel, EWWW, Optimus เป็นต้น ซึ่งทำให้ลดปัญหาปลั๊กอินตีกันเองได้

All in one (almost) เกือบจะครบในหนึ่งเดียว
นอกจากการ Optimize CSS และ JavaScript แล้ว WP Rocket ก็ได้พยายามเพิ่มฟังชั่นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ทำให้เว็บของเราเร็วขึ้นได้ เช่น
Heartbeat Control ช่วยลดการเรียกใช้งานไฟล์ admin-ajax.php
ที่กระทบต่อเซิฟเวอร์หากมีการเรียกใช้งานมากเกินไปจากบางปลั๊กอินหรือธีม

Database การดูแลฐานข้อมูล ล้างและทำความสะอาดตารางต่าง ๆ ที่ปลอดภัยต่อการลบทิ้ง เพื่อลดขนาดฐานข้อมูลและทำให้เรียกใช้งานได้เร็วขึ้น *ควรใช้ควบคู่กับการทำ Auto Backup อยู่เสมอ ซึ่ง WP Rocket ไม่ได้มีในส่วนของการ Backup แนะนำปลั๊กอินที่ทำ Auto Backup และส่งไปเก็บไว้ยัง Google drive อย่าง Updraft Plus เป็นต้น

Selfhost Google Analytics / Pixel แต่ก่อนเราจะใช้ปลั๊กอินเพิ่มอีกตัวเพื่อทำการดึงตัว JS ของ Google Analytics มาเก็บไว้บนโฮ้สต์แล้วอัพเดตเป็นช่วงเวลาตามที่กำหนด ที่ทำแบบนี้เพราะเวลาที่ทดสอบเว็บตามเว็บ Speed Test ต่าง ๆ มักจะโดนข้อหา Leverage browser caching ซึ่งจริง ๆ แล้วตัวนี้คือสคริปต์ที่ดึงมาใช้จากเซิฟเวอร์อื่น อย่าง Google, Facebook เป็นต้น ทำให้เราไม่สามารถกำหนดเวลาในการแคชไฟล์เหล่านี้ได้ WP Rocket จึงได้เพิ่มฟังชั่นนี้เข้ามาด้วย ซึ่งสามารถใช้ได้กับทั้ง Google Analytics และ Facebook Pixel ไว้ในตัวเลย ซึ่งหากเราได้ใส่โค้ดพวกนี้ไว้ที่ไหนในเว็บ เมื่อ WP Rocket ตรวจเจอก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ

Up to date ตามเทรนอยู่เสมอ
หากใครเคยทำ Test Speed มาก่อน จะทราบว่าฟังชั่นทั้งหลายที่กล่าวมาด้านบนนั้นล้วนเกี่ยวกับเกณฑ์ในการวัดผลของเว็บ Test Speed ที่เรานิยมใช้กันนั่นเอง WP Rocket มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเว็บทดสอบ Speed Test อันไหนเก่าแล้วก็เอาออก และอัพเดตตามมาตฐานใหม่ แม้ WP Rocket เอง จะบอกว่า เราไม่ควรอ้างอิงความเร็วเว็บด้วยตัวเลข Score จาก Google PageSpeed Insight มากเกินไปก็ตาม แต่ WP Rocket ก็พัฒนาให้เข้ากับมาตฐานใหม่ ๆ ที่ถูกนำมาใช้เสมอ ปัจจุบัน Google นำเอาเกณฑ์ Cor Web Vitals มาใช้ในการให้คะแนนเว็บซึ่งจะเน้นไปที่ User Experience โดยเฉพาะ ร่วมกับความเร็วใน Web Vitals แต่ละส่วนมาคำนวน
ยกตัวอย่างเช่น Layout Shift อาการที่หน้าเว็บกระตุกหรือมีการเปลี่ยนเลย์เอาท์ในขณะโหลด อาจจะเพราะการใช้ Critical CSS ที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อหน้านั้นโดยเฉพาะ หรือเวลาที่ไม่ได้กำหนดพื้นที่ไว้ให้รูปภาพ ทำให้เวลาโหลดภาพขึ้นมาแล้วมันดันข้อความลงไป แบบนี้ก็ถือว่ามันเหมาะสมแล้ว ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งธีมและปลั๊กอินที่ใช้ในการออกแบบต่างๆ หรือปลั๊กอินที่ใช้ Optimize เองด้วย แม้ว่าเราจะทำเพื่อให้มันเร็วขึ้นก็ตาม ซึ่งถ้าจะให้ดีที่สุดก็ต้องดูตามที่ Google แนะนำว่าให้แก้ไขเกี่ยวกับอะไร หากทางแก้ไขได้หรือไม่
แน่นอนว่าหากเราทำตาม Google ได้ เว็บก็ต้องเร็วและแสดงผลได้ดีตามมาตฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญจริง ๆ คือฟังชั่นการทำงานของเว็บไซต์เราต่างหาก เพราะว่าเว็บแต่ละเว็บนั้นมีเป้าหมายแตกต่างกัน เว็บ E-commerce อาจจะออกแบบเน้นไปทางการให้ความสำคัญในการเพิ่มยอดขาย ซึ่งการออกแบบบางอย่างอาจจะไม่ได้ถูกใจ Google แต่สะดวกต่อการใช้งานของลูกค้าและช่วยกระตุ้นยอดขายได้
แม้แต่ Google เองก็ยังแบ่งคะแนนออกเป็นหลายระดับ เขียว เหลือง แดง คือคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องเขียวก็ได้ แค่เหลืองก็พอ แดงก็คือควรปรับปรุงนะ ไม่ได้แปลว่า ผิด แต่เราควรจะรู้คร่าว ๆ ว่า มันเป็นแบบนี้เพราะอะไร แก้ไขได้หรือไม่ เหมาะที่จะแก้ไขมั๊ย อยากให้ Yslow ขึ้นมาเต็ม 100 แต่ต้องแลกกับการจ่ายรายเดือนให้บางบริการหรือบางปลั๊กอิน ถ้าเป็นเว็บที่ไม่ก่อรายได้ก็ถือว่าไม่คุ้มเท่าไหร่ เพราะคะแนนที่เพิ่มขึ้นมาอาจจะความเร็วเท่าเดิมอยู่ก็ได้
ดังนั้นการศึกษาเรื่องเหล่านี้ไว้บ้างก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะนอกจากจะได้เข้าใจแนวทางของการทำเว็บให้เร็วขึ้นและเพิ่มประสบการณ์ใช้งานที่ดีแล้ว ยังทำให้เรารู้ว่าคะแนนนั้นไม่ใช่ทุกอย่าง รู้ว่าจุดไหนคุ้มที่จะแก้ไขให้ได้สูงสุด จุดไหนที่มองข้ามได้ แต่เป็นการมองข้ามด้วยความเข้าใจแล้ว
คำแนะนำให้ทำคะแนน PageSpeed Insight ได้ง่าย ๆ
- Hosting เริ่มจากพื้น คือเลือก Hosting ดี ๆ ถ้าไม่เกี่ยงว่าในประเทศก็ใช้พวก VPS อย่าง
Cloudways ก็ได้ เพราะติดตั้งและใช้งานค่อนข้างง่าย เวลาเราตั้งเซิฟเวอร์ไว้ต่างประเทศ ตอนทดสอบกับพวก Speed Test ก็มักจะทำเวลาได้ดีกว่าโฮ้สต์ในประเทศอยู่แล้ว ราคาก็มีให้เลือกหลายหลายแล้วแต่เว็บที่เราจะทำ มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้หลายอย่าง - Speed Optimized Theme เลือก Theme ที่เน้นทางด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น ของ SeedThemes ที่พี่เม่นและทีมงานคนไทยเรานี่เอง พัฒนาขึ้นมาเพื่อเน้นด้านความเร็วโดยเฉพาะ ยิ่ง User Experience ในส่วน Mobile ยิ่งหายห่วง ลื่นปรู๊ด ๆ ดีไซน์เรียบหรูสวยงามเพราะเขาเน้น Mobile First อยู่แล้ว ทำให้มีส่วนเกินน้อย โครงสร้างต่าง ๆ ที่จะนำมาประกอบกันก็คำนึงถึงเรื่องความเบาเป็นหลัก ตัดอะไรที่หนักและไม่จำเป็นออกตามเทรนเว็บสมัยใหม่เหมือนกับว่าเรา custom ขึ้นมาเองเลยทีเดียว แค่ตัวธีมอย่างเดียวก็ออกแบบเว็บมาได้คะแนนสูงลิ่วแล้ว เหมาะกับเว็บที่ต้องการจบงานได้ไว ดีไซน์ไม่ซับซ้อนมาก ทำแล้วไม่ต้องมานั่งปวดหัวตามแก้คะแนน Page Speed เยอะ อย่างที่บอกว่าอันนี้เราเน้นให้ชีวิตง่ายไว้ก่อน
- Cache ปลั๊กอินแคช แนะนำ WP Rocket หรือตัวฟรีตัวไหนก็ได้ที่เราลองแล้วได้ผลดีกับเว็บของเรา WP Fastest Cache, WP Super Cache, Breeze เป็นต้น เพราะถ้าใช้ธีมดี ออกแบบดีแล้ว อาจจะเหลืออยู่แค่ไม่กี่อย่างที่ต้องทำการ Optimize อันนี้ต้องทดสอบดูเองว่าขาดเหลืออะไร แต่แคชนั้นควรต้องมีอยู่แล้ว แทบทุกตัวมีการทำ Optimize CSS/JS ให้ด้วย หรือจะใช้คู่กับ Autoptimize ก็ได้ แต่ถ้าเน้นง่ายและครอบคลุมไว้ก่อนเราก็เสนอ WP Rocket นี่แหละ แล้วก็อะไรที่โฮ้สต์ไว้บนเว็บเราได้ก็โฮ้สต์ไว้เลยก็ได้ จะได้คะแนนดีขึ้นเพราะไม่ต้องโหลดจากที่อื่น เช่น พวก Google font เป็นไปได้อย่าใช้เยอะและให้อัพไว้ที่โฮ้สต์เราเลย WP Rocket มีฟังชั่น Preload font ให้ใช้ด้วย
- Image optimization อย่าลืม Optimize รูปภาพ ถ้าอยากให้ได้คะแนนดีจริง ๆ และง่าย ๆ ด้วย ก็แนะนำปลั๊กอิน Adaptive Image by ShortPixel ไปเลย เจ้าของเดียวกันกับตัวที่เราบีบอัดภาพบนโฮ้สต์ของเรานั่นแหละ แต่ตัวนี้มันดีกว่าตรงที่เป็นการใช้งานแบบ CDN เดี๋ยวนี้เขาฮิตท่านี้กัน กล่าวคือ เขาจะดึงภาพจากเว็บเราไปทำการบีบอัด แล้วสร้างภาพไฟล์ขนาดต่าง ๆ ตามที่เราใช้บนหน้าเว็บเรา ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอขนาดไหน ระบบของเขาก็จะเสิร์ฟภาพที่เหมาะสมให้เองทั้งหมด ไฟล์ภาพต่าง ๆ ที่แสดงบนเว็บเรา จะถูกแทนที่ด้วยภาพที่จากผู้ให้บริการ CDN หมดปัญหาเวลาโดนตัดคะแนนว่าภาพใหญ่เกินขนาดแสดงผลจริง และที่โดนกันตลอดคือเรื่อง Cookie-free domains จะหมดไปเช่นกัน และที่มันง่ายก็เพราะ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยเราไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องมานั่งเปิดหน้าจอแล้วรอบีบอัดภาพแบบข้ามวัน เพราะระบบจะทะยอยอัพเดตให้เราเอง ไม่เปลืองทรัพยากรของเรา จะเปลืองก็แต่ค่าบริการรายเดือน ซึ่งก็ไม่แพงมาก แต่ตัดจบปัญหาเรื่องภาพไปได้เลย
4 ข้อนี้คือการทำคะแนน PageSpeed ให้สูงได้ง่าย ๆ แบบไม่วุ่นวายมากนัก เพราะปัจจัยหลักในการทำให้เว็บโหลดเร็วและได้คะแนนดีด้วยมันก็มีอยู่แค่นี้ (ณ ตอนนี้) คือ
- โฮ้สต์ดี
- ธีมที่ดี ดีไซน์ดี ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง (โค้ด)
- แคช จะได้ไม่ต้องดึงข้อมูลใหม่ทุกครั้ง
- ภาพต้องผ่านการบีบอัด
ที่เหลือจากนี้ก็แล้วแต่ความซับซ้อนของแต่ละเว็บ เว็บที่มีฟังชั่นเยอะ ๆ ปลั๊กอินใหญ่ ๆ อาจจะทำยากกว่า และยิ่งเราใช้ปลั๊กอินหลายตัว ก็จะยิ่งควบคุมยากยิ่งขึ้น เสี่ยงมากขึ้น ต้องคอยตรวจสอบให้ดี ๆ และอย่าเข้าใจผิดว่าถ้าจะทำ SEO หรือจะติดหน้าแรก ต้องได้คะแนนสูง ๆ มันเป็นแค่ปัจจัยเล็กน้อยเท่านั้น เพราะไม่ว่าอย่างไร Google ก็ยังให้ความสำคัญกับเนื้อหามากกว่าอยู่แล้ว เพราะการวัด PageSpeed ไม่ได้วัดคุณค่าของเนื้อหานั่นเอง