
สิ่งที่ทำให้ WordPress มีผู้ใช้งานมากมายนั้นคงเป็นเพราะ Ecosystem ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน โดยที่ยูสเซอร์ไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งทุกด้านเพื่อที่จะเขียนระบบต่างๆ เองทั้งหมด แต่ก็สามารถที่จะใช้ปลั๊กอินที่คนอื่นร่วมกันเขียนขึ้นมาได้ ทำให้ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และการดูแลรักษา
Plugin คืออะไร
ปลั๊กอิน หรือ ส่วนเสริม คือ สคริปต์ที่เราสามารถติดตั้งเพิ่มเติมให้กับ WordPress เพื่อให้มีฟังชั่นทำงานตามที่เราต้องการ ปลั๊กอินเหล่านี้อาจจะมีตั้งแต่ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงงานใหญ่ๆ ระบบที่เรียกได้ว่าเป็นเวอร์ชั่นอัพเกรดแปลงร่างกันเลยทีเดียว
- ปลั๊กอินที่เสริมเกี่ยวกับการออกแบบ เช่น ปรับแต่งสีสัน ออกแบบ การแสดงผลต่างๆ
- ปลั๊กอินที่เสริมด้านการตลาด ประชาสัมพันธ์ เช่น Social media, Email marketing
- ปลั๊กอินที่เสริมด้านความปลอดภัย อย่าง Spam, Malware, Firewall, Hacker
- ปลั๊กอินที่ช่วยปรับแต่งระบบทำงานได้ดีหรือเร็วขึ้น เช่น Cache, บีบอัดข้อมูล (optimize)
- ปลั๊กอินที่เกี่ยวกับการจัดการข้อมูล เช่น การแบคอัพ, การเคลื่อนย้ายข้อมูล (migration)
- ปลั๊กอินที่เสริมระบบใหญ่อื่นๆ เช่น E-commerce, Booking, Community
จะว่าไปแล้ว ตัว WordPress เองก็เปรียบเสมือนโครงสร้างบ้านที่สำคัญ ที่เราสามารถที่จะออกแแบบและตกแต่งให้สวยงามได้ด้วยธีม แต่ถ้าอยากจะต่อเติมระบบอื่นๆ พิเศษให้กับบ้านเราก็จะต้องใช้ปลั๊กอิน มีทั้งระบบรักษาความปลอดภัย สร้างร้านค้า เป็นต้น ซึ่งบ้านเราก็ต้องมีการดูและปรับปรุงจุดที่มัดรั่วหรือแตกหักด้วยการคอยตรวจเชคอัพเดตอยู่สม่ำเสมอนั่นเอง
Free หรือ Premium
ปลั๊กอินทุกประเภทนั้นมีทั้งแบบฟรี และแบบพรีเมี่ยม แล้วแต่ว่าเราจะลองใช้ตัวไหนแล้วตอบโจทย์มากกว่ากัน ซึ่งทำให้ในบางครั้งเราอาจจะต้องลงทุนซื้อเวอร์ชั่นพรีเมี่ยมหรือโปร เพื่อตอบสนองความต้องการ หลายๆ ปลั๊กอินจะมีทั้ง 2 เวอร์ชั่น คือแบบฟรีให้เราใช้งานได้ปกติ และแบบ Pro ที่จะมีฟังชั่นมากกว่าเดิม หรือจะเป็นแบบ Add-on หรือ Extension ให้เราเลือกซื้อบางส่วนที่ต้องการใช้งานมาเพิ่มเติมจากตัวฟรีได้
ไม่มีอะไรเป็นตัววัดว่าปลั๊กอินแบบ Premium นั้นจะดีกว่าตัวฟรี มีปลั๊กอินฟรีหลายตัวที่ดีมากๆ ซึ่งการที่เราจะซื้อปลั๊กอินจะเป็นเพราะว่าเราต้องการฟังชั่นการทำงานบางอย่างของมันเท่านั้น
WordPress.org
เป็นแหล่งรวม Contributor ที่มีธีมและปลั๊กอินฟรีมากที่สุด ซึ่งเป็นของ WordPress เอง ปลั๊กอินที่อยู่ในนี้เราสามารถที่จะติดตั้งฟรีผ่านทาง Dashboard ของเราได้เลย เพียงแค่เสิรชชื่อปลั๊กอินและคลิก Install เท่านั้น

แนะนำให้สร้างสมัครแอคเค้าท์ด้วย เพราะนอกจากเราจะสามารถโพสปัญหาใน support ได้และให้คะแนนรีวิวปลั๊กอินได้แล้ว เรายังสามารถที่จะติ๊กปลั๊กอินไว้เป็น Favorite อีกด้วย

ซึ่งเมื่อเราใส่ชื่อ username ตอนติดตั้งปลั๊กอินในเว็บของเรา เราก็จะสามารถดึงรายชื่อ Favorites plugins เหล่านี้มาแสดงได้ สนอันไหนก็ติดหัวใจไว้ก่อนได้เลย ซึ่งช่วยให้เราได้ในกรณีที่กลัวว่าจะลืมชื่อปลั๊กอินแล้วเสริชไม่เจอ
Premium plugin
ปกติแล้วปลั๊กอินจะต่างจากธีมตรงที่ผู้ขายปลั๊กอินส่วนใหญ่นิยมที่จะทำเว็บขายปลั๊กอินของตัวเองแยกต่างหาก ไม่ค่อยนำไปขึ้นร้านขายรวมกันบน Marketplace ที่ใหญ่ๆ อย่าง Codecanyon นั่นอาจจะเป็นเพราะแหล่งรวมปลั๊กอินที่แท้จริงแล้วคือ WordPress.org ต่างหาก ซึ่งใครที่ต้องการจะโปรโมทปลั๊กอินของตัวเองก็มักทำปลั๊กอินลงที่นั่น แล้วดึงคนที่ใช้ฟรีมาเป็นลูกค้าของตัวเองอีกที
แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของปลั๊กอินที่ Codecanyon นั่นก็คือ เราไม่ต้องต่ออายุรายปีนั่นเอง หรือนี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่เป็นที่นิยมจากนักพัฒนาปลั๊กอิน เพราะถ้าไม่ปังจริงๆ ก็จะได้น้อยมาก เนื่องจากลูกค้าจะจ่ายเพียงครั้งเดียวต่อเว็บและไม่ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อการอัพเดตอีกเลย
การเลือกปลั๊กอิน
เนื่องจากปลั๊กอินมีเยอะมาก ดังนั้นเราก็จะต้องมีการสแกนเบื้องต้นกันก่อน เพราะการเรียนรู้ใช้งานปลั๊กอินนั้น บางตัวอาจจะเข้าใจได้ง่ายในเวลาไม่นาน ขณะที่ปลั๊กอินบางประเภทที่มีระบบใหญ่และซับซ้อนก็อาจจะทำให้เราเสียเวลาในการทดสอบเยอะพอสมควร ดังนั้นเราจึงต้องพยามคัดเบื้องต้นก่อน ซึ่งก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนนี้เราก็จะต้องมีลิสต์ที่หมายตาไว้เสียก่อน โดยอาจจะเสริชหาจาก Google ก็ได้ ปลั๊กอินบางประเภทจะมีคนเขียนเปรียบเทียบกันไว้หลายตัว ทำให้เราคัดกรองได้เร็วขึ้น
1. Last updated
สิ่งแรกเลยที่แนะนำก็คือ ให้ดูการอัพเดตล่าสุด ถ้าเป็นปลั๊กอินเกี่ยวกับพวกสไตล์และการแสดงผล อาจจะอนุโลมได้ไม่จำเป็นต้องอัพเดตถี่นัก แต่ถ้าเป็นปลั๊กอินที่มีระบบซับซ้อนขึ้นมาหน่อย ก็ไม่ควรจะห่างการอัพเดตนานเกินไป

2. Review และ Comments
ทั้งในส่วนของคะแนนที่เป็นดาว และในส่วนที่มีผู้ใช้งานมาคอมเม้นท์ บางครั้งเราจะพอนึกภาพออกได้บ้างว่าปลั๊กอินเป็นยังไงบ้าง เพราะบางคนที่เขารีวิวเขาก็มักจะมีข้อเสนอแนะด้วย เช่น ทำไมถึงให้แค่ 4 ดาว ส่วนที่ขาดไปนั้นคืออะไร เราก็จะพอมีไอเดีย หรือคนที่ได้รับประสบการณ์แย่ๆ จากการใช้งานก็อาจจะมารีวิวเช่นกัน ซึ่งเราก็จะพยายามดูว่ามันมีปัญหาเพราะอะไร ปัญหาแบบนั้นจะเกิดกับเราหรือไม่ นอกจากนี้เราก็สามารถดูคนที่มารีวิวล่าสุดได้ด้วยว่าเขาเพิ่งใช้ไปตอนไหน ซึ่งถ้าเขาไม่มีปัญหาก็แสดงว่ามันยังใช้ได้อยู่ในตอนนั้น


ทั้งนี้เราต้องเข้าใจว่า คนที่มารีวิวก็คือลูกค้าทั่วไปเหมือนเรานี่แหละ ปัญหาบางครั้งก็อาจจะไม่ได้เกิดจากปลั๊กอินเลย อาจจะเป็นที่ลูกค้าตั้งค่าไม่เป็น หรือมีปลั๊กอินอื่นที่ชนกัน หรือไม่ก็อาจจะเป็นที่โฮ้สต์ลูกค้าเอง ซึ่งกรณีรีวิวคะแนนต่ำๆ เราก็ต้องดูเป็นเคสๆ ไป
3. Support ยามมีปัญหา
ปลั๊กอินบน WordPress.org นั้นจะให้ผู้ใช้งานที่มีแอคเค้าท์สามารถที่จะโพสปัญหาการใช้งานให้นักพัฒนาทราบเพื่อทำการแก้ไข ซึ่งจะทำให้เรารู้ได้ว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไรบ้าง เราสามารถดูถึงการช่วยเหลือของเจ้าของปลั๊กอินว่าซัพพอร์ตได้ดีแค่ไหน รวมไปถึงในกรณีที่ปลั๊กอินยังไม่ได้อัพเดตมาระยะนึงแล้ว แต่ถ้าเจ้าของเขายังมาคอยตอบคำถามอยู่เรื่อยๆ นั่นก็แสดงว่าเขายังดูแลมันอยู่ ก็ช่วยให้เราอุ่นใจได้

เนื่องจากการ support ที่นี่จะเป็นของปลั๊กอินฟรี ซึ่งนักพัฒนาบางคนเขาไม่ได้ทำเวอร์ชั่นที่มีไว้ขายด้วย ดังนั้นบางคนก็อาจจะไม่ได้เข้ามาซัพพอร์ตบ่อยๆ ก็ได้
4. Requirement ความต้องการของระบบ
Requirement คือ ความต้องการของระบบ หลายๆ ปลั๊กอินจะมีบอกว่าต้องใช้บน PHP เวอร์ชั่นไหน ใช้ WordPress เวอร์ชั่นไหน เพราะเราคงไม่อยากจะเสียเวลาหรือเสียเงินติดตั้งแล้วใช้งานไม่ได้ นอกจากนี้บางปลั๊กอินยังต้องการธีมที่รองรับเป็นพิเศษจึงจะสามารถใช้งานได้ เช่น WPML, WooCommerce, bbPress เป็นต้น

5. Plan and Pricing เงินทั้งนั้น
สำหรับปลั๊กอินแบบพรีเมี่ยมที่ต้องเสียเงินซื้อ นอกจากปลั๊กอินที่ขายบน Codecanyon แล้ว ส่วนใหญ่เว็บอื่นๆจะขายแบบต่ออายุรายปีทั้งสิ้น ยิ่งใครจำเป็นต้องใช้ปลั๊กอินพรีเมี่ยมหลายตัว นั่นก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นในทุกๆ ปี เราควรจะรู้ว่าปลั๊กอินนี้มีราคาแบบไหน ใช้ได้เท่าไหร่บ้าง
ส่วนใหญ่มักจะแบ่งเป็น 3 แพลนหลักๆ คือ
- Personal, Single อันนี้เป็นแบบถูกสุด ใช้ได้เว็บเดียว
- Bussiness แบบนี้จะใช้ได้หลายเว็บขึ้นมานิดนึง
- Developer, Agency, Unlimited แบบนี้จะราคาแพงสุด ซึ่งมักจะใช้ได้ไม่จำกัด หรือบางที่อาจจะจำกัดที่ปริมาณมากหน่อย เช่น 100 เว็บต่อ 1 licence

6. จำนวนผู้ใช้งาน
ไม่ว่าจะเป็นนวน Active install หรือ Sales เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเหมือนกัน แม้ว่าทุกปลั๊กอินจะต้องเคยผ่านจุดที่ผู้ใช้งานน้อยมาก่อนทั้งนั้นก็ตาม แต่หากเป็นปลั๊กอินที่ขายบนตลาดอย่าง Codecanyon ที่อัพเดตฟรีตลอดชีพ ถ้าหากปลั๊กอินนั้นมียอดขายน้อย มันก็จะมีความเสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้งจากนักพัฒนาได้ตลอดเวลา โดยถ้าเห็นว่าเป็นปลั๊กอินที่ขายมานานแล้ว และดูเหมือนว่าไม่ได้อัพเดตมานานด้วย แถมยังมีคนใช้น้อยอีก อันนี้ต้องห่างๆ ไว้ก่อน

จริงๆ แล้วไม่ต้องเยอะเป็นแสนแบบด้านบนนะคะ พันก็เยอะแล้ว ลองคูณเป็นเงินไทยดูสิ มันแล้วแต่ว่าเป็นปลั๊กอินอะไร แนวไหน แล้วก็ลองเทียบกับตัวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กันดู เพราะบางตัวก็อาจจะเยอะเพราะขายมานานมากแล้ว ปลั๊กอินบางตัวเพิ่งเกิดใหม่ ยอดน้อยๆ แต่ดีกว่าก็มี ที่ต้องการให้พิจาณาคือ เพื่อคาดการณ์ว่ามันจะได้ไม่โดนทิ้งไว้ข้างหลังเพราะคนใช้น้อยแล้วโปรแกรมเมอร์ไม่พัฒนาต่อ
7. Alternative plugin ของทดแทน
สุดท้ายสำหรับข้อนี้ ไม่ใช่ขั้นตอนว่าเราจะเลือกปลั๊กอินตัวนี้หรือไม่ เราจะทำขั้นตอนนี้สำหรับปลั๊กอินที่ต้องเสียเงิน เพราะ Altenative plugin ก็คือตัวเลือกอื่นๆ ที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ โดยที่เป็นปลั๊กอินฟรี เพราะก่อนที่เราจะควักเงินซื้อปลั๊กอินตัวไหน เราจะต้องค้นคว้าเพิ่มเติมเสียก่อน ว่ามีปลั๊กอินที่ทำงานได้คล้ายๆ กันนี้ แต่ไม่จำเป็นต้องเสียเงินต่ออายุทุกปีหรือไม่ บางปลั๊กอินเราไปเจอทีหลัง อาจจะทั้งฟรีและดีกว่าตัวที่เคยเสียเงินซื้อเสียอีก (เคยมาแล้ว) ซึ่งถ้าไม่ค้นหาข้อมูลให้ดีเสียก่อน เราก็อาจจะเสียใจภายหลังได้ ซึ่งมันก็ไม่ได้ต่างจากการที่เราเลือกซื้อของทั่วไปที่อาจจะต้องดูหลายๆ เจ้า เปรียบเทียบราคา ข้อดีข้อเสียเสียก่อน หรือในบางครั้งเราอาจจะใช้ปลั๊กอินมากกว่า 1 ปลั๊กอิน ทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการจากปลั๊กอินที่เสียเงิน เป็นต้น ซึ่งก็เป็นการประหยัดได้ดีและอาจจะได้ที่ดีกว่าด้วย ถ้ามันสามารถทำงานด้วยกันได้
การเลือกปลั๊กอินใช้แน่ใจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะสำหรับบางงานที่ใช้ไปนานแล้วและหากต้องเปลี่ยนก็อาจจะทำให้เรายุ่งยากวุ่นวายในการโยกย้ายข้อมูลจากเก่าไปใหม่ หรือในบางครั้งอาจจะสูญเสียและต้องเริ่มใหม่กันเลยทีเดียว ดังนั้น พยายามใช้ปลั๊กอินให้เท่าที่จำเป็นและเลี่ยงไม่ได้จริงๆ และพิจารณาให้แน่ใจว่าตัวนี้เหมาะกับงานของเรามากที่สุด