Skip to content

WordPress แม้ว่าจะเป็นระบบเว็บที่น่าใช้งานและมีคุณภาพสูงมาก แต่ก็มีเรื่องที่น่าเบื่อและน่ารำคาญอยู่เหมือนกันนะครับ เดี๋ยวเราจะไปดูว่ามีอะไรบ้างและจะจัดการมันอย่างไร

WordPress เป็นเครื่องมือสร้างเว็บไซต์แบบโอเพ่นซอร์สและเป็นระบบจัดการเนื้อหา (CMS) ที่ถูกพัฒนาโดย Matt Mullenweg และ Mike Little ในปี 2003 แม้ว่าเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตมากกว่า 40% จะขับเคลื่อนโดยระบบ WordPress แต่มันก็ยังมีจุดบกพร่องอยู่ที่อาจทำให้ผู้ใช้หงุดหงิด เราจะไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1. Uncategorized Category

ประเดิมกับ Category ในตำนานที่ลบไม่ได้ครับ WordPress จะมี taxonomies ที่สร้างไว้อยู่แล้วคือ Uncategorized ไม่สามารถลบได้ ซึ่งเราแนะนำให้เปลี่ยนชื่อแทนสามารถทำได้ครับ แค่เอาเมาส์โอเว่อร์ที่ชื่อ Uncategorized แล้วกดที่ Edit จากนั้นใส่ชื่อที่ต้องการลงไปแทนแล้วกดอัพเดตซะ

2. เปลี่ยนชื่อ Username

เรื่องที่สองก็ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อ Username ได้โดยตรงในระบบ ตั้งชื่อแล้วตั้งเลยว่างั้น วิธีง่ายสุดคือสร้าง Account ใหม่ แล้วลบ Account เก่าทิ้ง หรือใช้ปลั๊กอินช่วยแก้ครับ มีปลั๊กอินที่ชื่อ “Easy Username Updater” สามารถแก้ไขชื่อ username ได้

หรืออีกวิธีถ้าคุณรู้รหัสผ่านของ Database ให้เข้าไปที่ phpMyAdmin ของเว็บ กดเข้าไปที่ตาราง Database ของ WordPress ปกติจะมีชื่อนำหน้าด้วย wp_ มองหาตารางที่ชื่อ wp_users จะเจอรายการ user ทั้งหมดที่นี่ ให้เลือก user ที่ต้องการจะเปลี่ยนแล้วกด Edit

แล้วดูช่อง user_login แก้ชื่อตามต้องการแล้วกดปุ่ม Go เพื่ออัพเดตค่าใหม่

3. ไม่มีระบบ Backup

เรื่องต่อมาระบบ WordPress ไม่มีฟีเจอร์ Backup มาให้ เราต้องหาทาง Backup ข้อมูลบนเว็บเอง ซึ่งการสำรองข้อมูลเป็นประจำช่วยให้เราไม่ต้องกังวลเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นกับเว็บของเรา เราสามารถกู้คืนเว็บไซต์จากข้อมูลสำรองได้อย่างง่ายดายในกรณีที่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น

มีหลายวิธีในการสำรองข้อมูลไซต์ WordPress วิธีที่ง่ายที่สุดคือการใช้ปลั๊กอิน โดยปลั๊กอินที่มีคนนิยมสูงและใช้งานง่ายนั่นก็คือปลั๊กอิน “All in one migration” ของค่าย ServMask ครับ

4. การ Deactivate ปลั๊กอิน ถ้าไม่ได้เป็น Admin

เว็บเกิดมีปัญหาที่ตัวปลั๊กอิน แล้วเราไม่ใช่ User ระดับ Admin ก็ไม่สามารถเข้าถึงการ Deactivate ปลั๊กอินได้เลยครับ แต่ยังดีที่เราสามารถเข้าไปจัดการปลั๊กอินผ่านโปรแกรม FTP ได้ครับ โดยเข้าไปที่โฟลเดอร์ wp-content/plugins เลือกลบหรือ Rename ปลั๊กอินที่มีปัญหาได้เลย

5. หน้าจอขาวแห่งความตาย

สิ่งที่น่ารำคาญอีกอย่างที่คุณอาจเผชิญใน WordPress คือหน้าจอสีขาวแห่งความตาย ไม่มีข้อผิดพลาด ไม่มีข้อความ ไม่มีอะไรแสดงบนหน้าจอ ใช้งาน WordPress ไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดจากข้อผิดพลาดที่สคริปต์บนเว็บใช้หน่วยความจำเกินขีดจำกัด แรมไม่พอ เมื่อสคริปต์ที่ไม่ตอบสนองถูกหยุดทำงาน หรือแม้แต่ปัญหาจากปลั๊กอินหรือธีมที่ติดตั้งเราก็มีโอกาสจะเห็นข้อผิดพลาดนี้ วิธีแก้ไขให้เข้าไปที่ FTP และจัดการลบหรือ Rename ปลั๊กอินหรือธีมที่มีปัญหาออก และลองแก้ไฟล์ wp-config.php โดยเพิ่มโค้ดนี้ลงไปเพื่อขยายหน่วยความจำของ PHP memory ให้มากขึ้น

define( ‘WP_MEMORY_LIMIT’, ‘256M’ );

6. ปลั๊กอินขัดแย้งกัน

ปลั๊กอิน WordPress เหมาะสำหรับการเพิ่มฟังก์ชันและคุณสมบัติเพิ่มเติมให้กับเว็บไซต์ แต่ปลั๊กอินบางตัวอาจขัดแย้งกัน ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง เช่น อาจทำงานไม่ถูกต้องหรืออาจทำให้เว็บไซต์เสียหาย การมีปลั๊กอินมากเกินไปอาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งได้ จึงควรปิดการใช้งานและลบปลั๊กอินที่ไม่ได้ใช้งาน สิ่งนี้จะช่วยลดปัญหาปลั๊กอินขัดแย้งกัน และเพิ่มความปลอดภัยให้กับ WordPress และเพิ่มความไวในการโหลดหน้าเว็บครับ

7. Excerpts

ปกติแล้ว WordPress จะแสดงเนื้อหาของโพสต์แบบเต็มในหน้าแรก archives และ category ซึ่งจะสร้างเนื้อหาที่ซ้ำกันบนไซต์ และอาจทำให้ผู้ใช้ไม่ได้ดูเนื้อหาโพสต์แบบเต็ม เราจึงควรแสดง excerptsข้อความที่ตัดตอนมาโดยจะแสดงข้อมูลสรุปสั้นๆ และแจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่าเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ทำให้คนอยากคลิกเข้าไปดูเนื้อหาเต็มต่อ

8. Spam ใน Comments

ความคิดเห็นที่เป็นสแปมถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่น่ารำคาญสุดๆ บน WordPress แถมมาไว มาเกือบทุกวัน สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือลองใช้ปลั๊กอิน Akismet ที่แถมมากับระบบ WordPress นั่นแหละ สามารถช่วยดักจับความคิดเห็นที่เป็นสแปมและป้องกันไม่ให้โผล่มาใน Comment ของระบบได้ รวมถึงการตั้งค่าเพิ่มเติมใน Settings > Discussion ดูตรงหัวข้อ Before a comment appears ติ๊กเลือก Comment must be approved ก็คือต้องมีการตรวจสอบก่อนที่จะให้แสดง Comment ใดๆ ในเว็บ

อีกวิธีคือเพิ่ม Google reCaptcha ก่อนที่กดปุ่ม Submit ในฟอร์มใดๆ เพื่อป้องกันบอทสแปม

9. การตั้งค่า Automatic Updates

WordPress มีฟีเจอร์ตั้งค่าอัพเดตปลั๊กอินโดยอัตโนมัติ ซึ่งถ้าเราเปิดไว้ทั้งหมดอาจจะให้เสียเวลารอตอนอัพเดตนานหลายนาที แถมถ้าเจอปลั๊กอินมีปัญหาขัดแย้งกันอาจทำให้เว็บพังอีก ดังนั้นเราอาจใช้วิธีเลือก Enable auto-updates เฉพาะบางปลั๊กอินที่สำคัญเท่านั้นก็พอแล้ว

สรุป

และนี่ก็เป็นปัญหาของ WordPress พร้อมวิธีแก้ไข เผื่อว่าเพื่อนๆ ต้องประสบพบเจอจะได้แก้ไขเบื้องต้นได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่ถ้าเกินความสามารถจริงๆ ก็อาจจะลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแก้ไขอีกทีครับ

Back To Top
Search