Skip to content

เว็บไซต์ที่ใช้ระบบ WordPress จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาเป็นประจำ ซึ่งการบำรุงรักษา WordPress โดยทั่วไปมักจะเกี่ยวข้องกับการอัปเดตซอฟต์แวร์ การสแกนความปลอดภัย ซึ่งจริงๆ มีอะไรให้เพื่อนๆ ได้เช็คกันมากกว่านั้น ไปติดตามกันได้จ้ะ

เว็บไซต์ระบบ WordPress วันดีคืนดีอาจจะเกิดปัญหา เช่น เว็บล่ม เว็บช้า แบบฟอร์มเสียหาย หรือมีลิงก์ที่เป็นอันตรายทิ้งไว้บนหน้าเว็บ ซึ่งอาจขัดขวางประสบการณ์ของผู้เยี่ยมชม รวมถึงอาจทำให้ความประทับใจต่อเว็บไซต์และแบรนด์ของเว็บดูแย่ลงได้ครับ

ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าเว็บของเรายังคงมีประสิทธิภาพและเรียบร้อยปกติสุขดี เราควรบำรุงรักษาระบบ WordPress อยู่เสมอ และด้านล่างคือ 10 จุดที่ควรเช็คครับ

1. อย่าลืม Backup ข้อมูลเว็บไซต์อยู่เสมอ

การสำรองข้อมูลเว็บไซต์เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นลำดับต้นๆ เลยครับ อย่างน้อยที่สุดเดือนละ 1-2 ครั้งก็ยังดี ยิ่งถ้าเว็บไหนมีการอัพเดตข้อมูลภายในเว็บอยู่แทบทุกวัน อาจจะเพิ่มความถี่ในการสำรองข้อมูลเป็นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเป็นต้น การสำรองข้อมูลมีประโยชน์มากถ้าเว็บไซต์ของเราถูกแฮ็ก เรายังสามารถคืนค่าเป็นเวอร์ชันก่อนที่เว็บไซต์ของเราจะเสียหาย หรือกรณีหากเว็บพังเพราะความขัดแย้งของปลั๊กอินหรือโค้ดต่างๆ การกู้คืนข้อมูลสำรองจะแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ให้เราได้ครับ แต่ถ้าใครใช้โฮสติ้งของ ruk-com ก็เบาใจไปได้ เพราะที่นี่เขามีบริการสำรองข้อมูลเว็บทุกวัน เรียกว่าอุ่นใจและปลอดภัยมากๆ เลยล่ะครับ

การสำรองข้อมูลด้วยตัวเอง สำหรับ WordPress มีปลั๊กอินช่วยสำรองข้อมูลหลายตัว แต่ที่นิยมและใช้งานง่ายเห็นจะหนีไม่พ้นปลั๊กอิน All-in-One WP Migration ครับ สามารถสำรองข้อมูลและ Import เข้ามาใหม่ได้อย่างง่ายดาย

2. อัพเดตระบบ WordPress

การอัพเดตระบบของ WordPress เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะทีมพัฒนามักจะแก้ไข Bug และเรื่องความปลอดภัยต่างๆ ของระบบ ซึ่งก่อนจะอัพเดตอย่าลืมสำรองข้อมูลของเว็บก่อนทุกครั้ง เผื่อเว็บพังจะได้นำข้อมูลเก่าไปแทนที่ได้ครับ

3. อัพเดตธีม

นอกจากจะอัพเดตระบบ WordPress แล้ว สิ่งที่เราควรจะอัพเดตไม่แพ้กันก็คือไฟล์ธีมที่เรากำลังใช้งานอยู่ครับ เนื่องจากธีมที่ดีจะมีการอัพเดตไฟล์เพื่อแก้ Bug หรือเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ รวมถึงแก้ไขเรื่องความปลอดภัยต่างๆ ก่อนจะอัพเดตอย่าลืมสำรองข้อมูลเว็บก่อนนะจ๊ะ เพื่อความปลอดภัยหากมีปัญหาหลังจากอัพเดตธีม

4. อัพเดตปลั๊กอิน

ปลั๊กอินต่างๆ ในระบบเว็บ เป็นสิ่งที่เราจะต้องอัพเดตอยู่เสมอ นอกจากจะแก้ Bug จากเวอร์ชันก่อนๆ บางปลั๊กอินอาจจะแก้ไขเรื่องความปลอดภัยของไฟล์ด้วยครับ ถ้าหากอัพเดตปลั๊กอินแล้วมีปัญหาการใช้งานเราสามารถ Rollback กลับไปใช้เวอร์ชันก่อนหน้าได้ด้วยปลั๊กอิน WP Rollback

5. เปลี่ยนและเพิ่มความปลอดภัยให้กับ Password

ข้อนี้สำหรับคนที่ต้องการความ Security ในการใช้งานก็เปลี่ยนสักเดือนละครั้ง ปลอดภัยไว้ก่อน หรือจะใช้วิธีในการรักษาความปลอดภัยของรหัสผ่าน เช่น บังคับใช้รหัสผ่านที่รัดกุมสำหรับผู้ใช้ทุกคน, เปิดใช้งานการตรวจสอบสิทธิ์ Two-factor authentication สำหรับผู้ดูแลระบบและผู้แก้ไข หรือ จำกัดความพยายามในการเข้าสู่ระบบ ซึ่งวิธีการเหล่านี้สามารถทำได้ด้วยปลั๊กอินที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยให้ระบบ เราสามารถเข้าไปตั้งค่าเพิ่มตรงนี้ได้ครับ

ปลั๊กอิน All-In-One Security (AIOS) เวอร์ชั่น Premium สามารถกำหนดการล็อคอินแบบ 2 ชั้น หรือ Two-factor authentication ได้

6. ลบพวกคอมเมนต์ Spam และหาทางป้องกัน

พวกคอมเมนต์ขยะที่มาจากบอทมักสร้างความน่ารำคาญและเสียเวลาในการลบเป็นอย่างยิ่ง ผู้ดูแลควรลบคอมเมนต์สแปมเหล่านี้ออกจากระบบ และหาปลั๊กอินป้องกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลั๊กอินด้านรักษาความปลอดภัย หรือหากเว็บของเราไม่ได้มีระบบที่ให้ผู้ชมเว็บต้องพิมพ์คอมเมนต์ใดๆ เราสามารถหาปลั๊กอินที่ปิดการทำงานของคอมเมนต์ เช่น ปลั๊กอิน Disable Comment เป็นต้น

7. สแกนไวรัสและมัลแวร์ให้ระบบ

เราไม่รู้ว่าเว็บของเรามีไวรัสหรือมัลแวร์แอบแฝงในระบบของเราหรือไม่ ดังนั้นควรหาวิธีการตรวจจับไวรัสและมัลแวร์เพื่อป้องกันด้านความปลอดภัยก่อนที่จะเกิดปัญหาที่มักจะมาแบบไม่ทันตั้งตัว

ปลั๊กอินความปลอดภัย WordPress มีหลายตัวด้วยกัน เช่น Wordfence Security, CleanTalk, All-In-One Security (AIOS) หรือ Security Ninja เป็นต้น

8. ลบไฟล์ที่ไม่ใช้แล้ว

เพื่อให้เว็บของเราไม่รกไปด้วยไฟล์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว โดยมากจะเป็นพวกไฟล์รูป ปลั๊กอินบางตัว หรือพวก Posts และ Page เก่าที่เราไม่ได้ใช้งานซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลแบบดราฟท์หรืออยู่ในถังขยะ หากเราไม่ใช้แล้วก็ลบทิ้งเสีย ไม่เปลืองเนื้อที่บนโฮสต์ด้วยครับ

9. เพิ่มประสิทธิภาพ Database

เวลาเราใช้งานเว็บไปเรื่อยๆ นานวันเข้าฐานข้อมูลของเว็บจะเริ่มใหญ่ขึ้น อาจจะมาจากการอัพเดตระบบ การลบปลั๊กอิน หรือการลบไฟล์ต่างๆ อาจจะมีข้อมูลเก่าเหลือค้างไว้ในฐานข้อมูลเว็บ เราจึงควรเพิ่มประสิทธิภาพของฐานข้อมูลบ้าง มีปลั๊กอินหลายตัวที่สามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของฐานข้อมูลเว็บ เช่น WP-Optimize, WP Rocket หรือ Advanced Database Cleaner

10. ตรวจสอบลิงก์ที่เสียภายในเว็บ

ในเว็บของเราอาจจะมีบางลิงก์ที่เสีย ไม่สามารถใช้งานได้ ควรจะแก้ใหม่ให้ถูกต้อง ไม่งั้นอาจจะส่งผลเสียด้าน SEO และสร้างความหงุดหงิดให้แก่ผู้ชมเว็บได้ครับ สำหรับการตรวจสอบสามารถทำได้ด้วยปลั๊กอิน Broken Link Checker

สรุป

หากเราไม่ดูแลรักษาเว็บ ปล่อยไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ดูแล เวลาเจอปัญหาอาจจะแก้ไขไม่ทัน คงไม่มีใครต้องการใช้เว็บที่ออกแบบมาไม่ดี ทำงานช้าและไม่ปลอดภัยใช่ไหมครับ จริงๆ เว็บระบบ WordPress นั้นดูแลรักษาง่าย ถ้าเรามีเวลาและสามารถดูแลตามเช็คลิสต์อยู่เป็นประจำ ย่อมช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าเว็บของเราปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญยังทำให้คนเข้าเว็บของเรามีประสบการณ์ที่ดีในการชมเว็บของเราด้วยครับ

Back To Top
Search