Skip to content

หากคุณกำลังพบว่าเว็บโหลดช้าและเริ่มมีคำถามว่า “ทำไมเว็บไซต์ WordPress ถึงช้าอะไรแบบนี้เนี่ย” ถึงเวลาที่เราจะต้องมาทำความเข้าใจว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เว็บช้า แล้วก็ต้องหาทางเพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพให้เว็บมีความไวเพิ่มขึ้น เราจะไปไล่ดูสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้เว็บไซต์ WordPress ทำงานช้า สาเหตุทั่วไปที่ขัดขวางประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมวิธีการแก้ไขเพื่อเร่งเวลาในการโหลดเว็บไซต์ของคุณให้ไวขึ้น

สาเหตุเว็บช้า

1. เลือกใช้ธีมที่หนักเกินไป

ธีมมีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้เว็บเราโหลดเร็วหรือช้าได้เลย บางธีมอัดโค้ดมามากเกินไป ขนาดไฟล์ใหญ่ และองค์ประกอบการออกแบบที่ซับซ้อน อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อประสิทธิภาพของเว็บไซต์ เวลาในการโหลดหน้าเว็บที่สูงขึ้น อัตรา bounce rates สูงขึ้น ทำให้มีผลต่อ SEO เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ สิ่งสำคัญคือใช้เลือกธีมที่มีการเขียนโค้ดที่มีประสิทธิภาพ, Optimize พวก assets ต่างๆ มาอย่างเหมาะสม และมีความสมดุลระหว่างความสวยงามและประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าเว็บไซต์จะราบรื่นและตอบสนองได้ดี

วิธีการทดสอบธีมง่ายๆ ลองติดตั้งธีมให้เรียบร้อยใน WordPress โดยไม่ต้องเพิ่ม Content ใดๆ ทั้งสิ้น จากนั้นใช้เครื่องมือทดสอบความไวอย่าง GTmetrix หรือ PageSpeed Insights ทดสอบความไวดูทั้งเวอร์ชั่น Desktop และมือถือ ตรวจเช็คค่าพวก Key performance indicators (KPIs), Core Web Vitals, Speed index, Total page loading time, จำนวน HTTP requests และ Page size เป็นต้น

PageSpeed Insights

GTmetrix

คุณสามารถใช้ 2 เว็บดังกล่าวเช็คความไวของธีมแบบเพียวๆ ได้ ถ้าผลคะแนนไม่ดี ลองแก้ด้วยการเข้าเช็คที่เมนูตั้งค่าของธีมนั้นๆ ว่าสามารถปิดการทำงานฟีเจอร์บางอย่างที่มีผลในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้หรือไม่ ถ้าลองแล้วคะแนนยังไม่ดีขึ้น ลองเปลี่ยนธีมอื่นแทน

2. การใช้แคชในเว็บไซต์

การแคชเป็นหนึ่งในเทคนิคที่ดีที่สุดในการแก้ไขเว็บ WordPress ที่ช้าโดยการจัดเก็บสำเนาหน้าเว็บแบบคงที่และลดความจำเป็นในการสร้างเนื้อหาใหม่สำหรับผู้เยี่ยมชมแต่ละคน การแคชยังสามารถลดภาระบนเซิร์ฟเวอร์และปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้ด้วยการส่งหน้าที่แสดงผลล่วงหน้าทันทีโดยเฉพาะเนื้อหาที่เข้าถึงบ่อย

วิธีการเช็คว่าเว็บมีการใช้แคชหรือไม่ ไปที่เว็บ PageSpeed Insights และดำเนินการตรวจสอบเว็บไซต์ของคุณ หากมีคำเตือนว่า “Serve static assets with an efficient cache policy” แสดงว่าคุณต้องติดตั้งแคช

สำหรับ WordPress มีปลั๊กอินช่วยแคชหลายตัวมาก หนึ่งในปลั๊กอินที่มีคนนิยมใช้สูงคือ “WP Rocket” ช่วยสร้างแคชและแก้ไขเว็บที่ช้าได้อย่างดีเยี่ยม WP Rocket จะสร้างหน้า HTML แบบคงที่โดยอัตโนมัติสำหรับไซต์ WordPress แบบไดนามิก เมื่อผู้ใช้เยี่ยมชมหน้าใดหน้าหนึ่ง เวอร์ชัน HTML ที่แคชไว้จะถูกแสดงแทน ทำให้หน้าเว็บโหลดเร็วขึ้นทั้งเว็บไซต์

ปลั๊กอิน WP Rocket สุดยอดเครื่องมือแคชช่วยทำให้เว็บไวขึ้น

3. ใช้โฮสต์ที่ช้า

การเลือกโฮสติ้ง WordPress ที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย ปัจจัยสำคัญบางประการที่ควรพิจารณาเมื่อเลือกผู้ให้บริการโฮสติ้ง WordPress เช่น คุณเลือกใช้โฮสติ้งแบบ Share Hosting หรือDedicated Hosting หรือเลือกใช้โฮสติ้งที่ปรับแต่งมาเพื่อระบบ WordPress หรือไม่ รวมถึงขีดจำกัดของแบนด์วิดธ์ พื้นที่เก็บข้อมูล และทรัพยากรอื่นๆ ในแผนโฮสติ้ง ถ้าคุณมีไฟล์วิดีโอ รูปภาพ และใช้ปลั๊กอิน WooCommerce ขายสินค้าหลายร้อยรายการ คุณก็ต้องวางแผนการเลือกโฮสติ้งให้ตรงกับสิ่งที่คุณต้องการ

สิ่งแรกถ้าโฮสติ้งช้า ควรติดต่อกับทางโฮสติ้งก่อนเลย และหาวิธีแก้ไข หรืออาจจะจำเป็นปรับเปลี่ยนแผนโฮสติ้งให้สูงขึ้นเพื่อช่วยให้เว็บของเราไวขึ้น หรืออาจจะลองสอบถามเพื่อนๆ หรือตามกลุ่ม Social media ว่าโฮสติ้งเจ้าไหนมีความไวสูง การที่หลายคนช่วยรีวิวทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น

Ruk-com หนึ่งในโฮสติ้งสำหรับระบบ WordPressที่มีประสิทธิภาพสูงและรวดเร็ว

4. ไม่ได้ Optimize โค้ดในเว็บ

การเพิ่มประสิทธิภาพโค้ดปรับปรุงประสิทธิภาพโดยการลดขนาดไฟล์ ส่งผลให้เวลาในการดาวน์โหลดเร็วขึ้น ทำให้การใช้แบนด์วิธลดลง และการโหลดหน้าเว็บเร็วขึ้น เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพโค้ดหลักมีดังต่อไปนี้

– Minification คือการลบตัวอักษรที่ไม่จำเป็นออกจากโค้ด ทำให้ไฟล์มีขนาดเล็กลง

– Delay non-critical JS ใช้การชะลอการโหลดสคริปท์จาวาให้ไปอยู่ท้ายๆ

– ลบ CSS ที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้งานออก

วิธีง่ายที่สุดใช้ปลั๊กอินแคชที่มีฟีเจอร์ดังกล่าวช่วยจัดการให้เราได้ โดยที่เราไม่ต้องไปนั่งไล่ลบโค้ดเอง

5. เว็บมีการเรียก HTTP Requests มากเกินไป

คำขอ HTTP จำนวนมากอาจส่งผลเสียต่อความเร็วได้ เนื่องจากคำขอแต่ละรายการจะมีการสื่อสารระหว่างเบราว์เซอร์และเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งใช้เวลาและทรัพยากรมาก การลดคำขอ HTTP ให้เหลือน้อยที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพเว็บไซต์

สำหรับค่า HTTP Requests สูงสุดต่อหน้า ไม่ควรเกิน 50 วิธีลดค่าเราสามารถใช้ปลั๊กอินอย่าง Perfmatters ช่วยลด HTTP Requests ให้ต่ำลงได้

Perfmatters มีตัวเลือกให้เปิดปิดสิ่งที่ไม่จำเป็นในเว็บ

6. ไม่ได้ใช้ CDN

การCDN หรือ A Content Delivery Network สามารถเร่งความเร็วในการโหลดไซต์ WordPress ได้โดยการกระจายเนื้อหาที่คงที่ เช่น รูปภาพ, CSS และ JavaScript ไปยังเซิร์ฟเวอร์หลายเครื่อง (Points of Presence) ที่วางไว้อย่างมีกลยุทธ์ทั่วโลก ซึ่งจะช่วยลดเวลาและลดการเดินทางของข้อมูล ส่งผลให้ผู้ใช้ทั่วโลกโหลดหน้าเว็บได้เร็วขึ้น

7. ไม่ได้ Optimize ไฟล์รูปภาพ

การบีบอัดไฟล์รูปภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความเร็วเว็บไซต์ เราสามารถใช้เทคนิคการบีบอัดและการเลือก Format ของภาพ เพื่อลดขนาดไฟล์โดยไม่ทำให้คุณภาพลดลง เช่น ใช้ไฟล์แบบ WebP และการใช้การโหลดแบบ Lazy Loading กับรูปภาพ เพื่อดึงเวลาในการแสดงผลภาพเฉพาะเวลาหน้าเว็บโหลดไปยังตำแหน่งนั้นๆ

สำหรับการบีบอัดไฟล์สามารถทำได้ด้วยโปรแกรมออกแบบกราฟิก เช่น Photoshop หรือ Affinity Photo หรือใช้ปลั๊กอินช่วยบีบอัดแปลงไฟล์

8. ติดตั้งปลั๊กอินมากเกินไป

การติดตั้งปลั๊กอิน WordPress ที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยการเพิ่มภาระของเซิร์ฟเวอร์ ส่งผลให้เวลาในการโหลดหน้าเว็บช้าลง และยังอาจจะมีการขัดแย้งกันอีกต่างหาก เพื่อรักษาความเร็วของไซต์ ควรเลือกปลั๊กอินที่มีประสิทธิภาพและปรับแต่งมาเหมาะสม โดยอาจเช็คจากยอดติดตั้งหรือประเมินจากคะแนนรีวิวและความสม่ำเสมอในการอัพเดตปลั๊กอิน

วิธีการตรวจสอบว่าปลั๊กอินไหนทำให้ช้า ก็แค่ไล่ Deactive ทีละปลั๊กอินแล้วทดสอบความไวดู

สรุป

การทำให้เว็บไซต์ WordPress เร็วขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิคต่างๆ เช่น การปรับแต่งโค้ด การแคช การเพิ่มประสิทธิภาพรูปภาพ การใช้ CDN และการลดปริมาณปลั๊กอิน การใช้เทคนิคต่างๆ เหล่านี้ร่วมกันจะช่วยเพิ่มความเร็วเว็บไซต์และประสิทธิภาพโดยรวมได้อย่างมากเลยทีเดียว

Back To Top
Search