Skip to content

หลังจากที่บทความก่อนหน้านี้เราได้แนะนำการใช้ Google Fonts ภาษาไทยกับเว็บของเราไปแล้ว วันนี้เราจะมาดูอีกวิธีในการใช้ฟ้อนต์ไทยกับฟ้อนต์ที่เราอัพโหลดเอง ในกรณีที่เรามีฟ้อนต์ที่ชอบหรือ Google Fonts นั้นไม่มีฟ้อนแบบที่เราต้องการ

ปลั๊กอินที่ใช้ร่วมกัน :

  • Header and Footer สำหรับใช้แทรกโค้ดที่เรียกฟ้อนต์
  • SiteOrigin CSS  สำหรับการแก้ไข CSS

เลือกฟ้อนต์

ฟ้อนต์ที่จะใช้นั้นควรเป็นฟ้อนต์ที่ถูกต้อง คือไม่ติดลิขสิทธิ์ เป็นฟ้อนต์ที่แจกให้ใช้ฟรีหรือเราได้ซื้อฟ้อนต์นั้นสำหรับการใช้งานบนเว็บเรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวเตยชอบหาฟ้อนต์ไทยที่ f0nt.com ค่ะ

f0nt-com

ทำการดาวน์โหลดฟ้อนต์ที่ต้องการแล้วแตกไฟล์ zip ที่ดาวน์โหลดเรียบร้อยแล้วออกมา ก็จะได้ไฟล์ฟ้อนต์ที่เราจะนำไปแปลง

font-zip

แปลงฟ้อนต์

นำฟ้อนต์ที่ได้ไปแปลงเป็นรูปแบบสำหรับใช้บนเว็บที่เว็บ Font Squirrel โดยการอัพโหลดไฟล์ที่ต้องการ เช่นหากต้องการใช้ตัวหนาจากด้านบนก็เลือกอัพโหลดตัว EDSense Bold.ttf ซึ่งก็จะเหมาะกับการใช้ทำหัวข้อ หากต้องการตัวปกติ สำหรับใช้กับเนื้อหาบทความ ก็เลือก EDSense.ttf โดยเราสามารถที่จะอัพโหลดได้ครั้งละตัวเท่านั้นนะคะ

upload-font

จากนั้นเลือกการตั้งค่าเป็นแบบ Expert ทำการเลือกประเภทไฟล์ที่ต้องการ เลือกความสูงของฟ้อนต์ที่ต้องการนำไปปรับ ซึ่งอันนี้ต้องลองดูนะคะว่าตัวไหนเหมาะที่สุด อย่างของเตยก็อาจจะใช้ Arial ได้พอดี ตรง Subsetting กำหนดเป็น No Subsetting ค่ะด

expert-mode

จากนั้นติ๊กที่ช่อง Agreement แล้วคลิกปุ่ม DOWNLOAD YOUR KIT

download-font-kit

เราก็จะได้ได้ไฟล์ font สำหรับใช้บนเว็บมาค่ะ เป็นไฟล์ zip ชื่อ webfontkit…. ก็ให้ทำการแตกไฟล์ก่อน แล้วข้างในก็จะมีไฟล์ดังในรูป ให้ลบไฟล์ที่ไม่เกี่ยวข้องออก คือไฟล์ที่ได้ทำการเลือกให้ดูในรูปนะคะ ลบออกไปเลยค่ะ

สังเกตว่าเราจะมีไฟล์หนึ่งที่ไม่ใช่ไฟล์ฟ้อนต์นั่นก็คือไฟล์ stylesheet.css ไฟล์นี้เองจะเป็นไฟล์ที่เรานำไปเรียกใช้ฟ้อนต์ในขั้นตอนต่อไป เป็นไฟล์ที่สำคัญมากค่ะ

delete-unwanted-files

เสร็จแล้วเราอาจจะทำการเปลี่ยนชื่อโฟลเดอร์ฟ้อนให้ง่ายต่อการใช้งานก็ได้ เช่นเปลี่ยนจาก webfontkit-20160730-192721 เป็น edsense เป็นต้น

อัพโหลดฟ้อนต์

ทำการใช้โปรแกรม FTP เช่น FileZilla เพื่อทำการอัพโหลดไฟล์ของฟ้อนต์ไปยังไดเรคทอรีที่ต้องการบนโฮ้สต์ โดยเตยจะเลือกอัพไปที่ wp-content เพราะตรงนี้จะเป็นที่เก็บไฟล์เว็บของเราทั้งหมด โดยเตยจะทำการสร้างโฟลเดอร์ชื่อ fonts ไว้อีกที โดยเราก็จะอัพโหลดไปไว้ในโฟลเดอร์นี้แทน /wp-content/fonts

upload-ftp

เรียกฟ้อนต์ใน <head>

ขั้นตอนต่อไปเราจะทำการเรียกฟ้อนต์ในแท็ก <head> ของเว็บ โดยทั่วไปเราสามารถใส่ในส่วนของ <head> ของธีมได้เลย แต่รอบนี้เราจะใช้ปลั๊กอิน Header and Footer แทน เพื่อที่ว่าเวลาที่เปลี่ยนธีมนั้น เราก็จะได้ไม่ต้องไปแก้ใหม่อีก เพราะมันเก็บค่าเหล่านี้ไว้ที่ปลั๊กอินแยกต่างหากนั่นเอง

ใส่โค้ดสำหรับอ้างอิงถึงไฟล์ stylesheet.css ของฟ้อนต์ ซึ่งถ้าตามภาพก่อนหน้านี้ก็จะเป็น <link rel="stylesheet" href="/wp-content/fonts/edsense/stylesheet.css" /> ใส่พาทถึงไฟล์ stylesheet.css ใน href=”…” โดยใส่ไว้ในส่วนของ Head ของปลั๊กอิน Header and Footer (ตั้งค่าที่ Settings > Header and Footer)

head-font-injection

จริงๆ มันก็เหมือนการใช้ font-face นั่นเอง เพียงแต่เราไม่ได้มานั่งพิมพ์ font-face แล้วระบุพาทของฟ้อนต์ทีละตัวเอง (ตัวอย่างถัดไป) แต่เราใช้วิธีการเรียกไปที่ไฟล์ stylesheet.css เลยทีเดียวจบค่ะ ไม่ต้องมาก๊อปปี้โค้ดด้วย

ใช้งานฟ้อนต์

การเรียกใช้งานฟ้อนต์ใน WordPress นั้นก็จะมีทั้งแบบที่เป็นแท็กของฟ้อนต์โดยเฉพาะ เช่น h1 – h6 ที่ใช้สำหรับเป็นหัวข้อ (Heading) หรือ ถ้ากำหนดเป็น body ก็จะใช้สำหรับทุกส่วนในเว็บ เป็นต้น

ในขั้นตอนนี้เราจะใช้ปลั๊กอิน SiteOrigin CSS เพื่อทำการแก้ไข CSS  บางคนอาจจะเขียนใส่ในธีมหรือ custom css ของธีม แต่เหตุผลที่เราใช้ปลั๊กอินก็อย่างที่บอกนะคะ เพื่อให้สะดวกในกรณีเปลี่ยนธีมค่ะ จะได้ไม่ต้องไปนั่งทำใหม่ ติดตั้งปลั๊กอิน SiteOrigin CSS แล้วไปที่เมนู Appearance (รูปแบบบล็อก) > Custom CSS

เราสามารถกำหนดได้โดยการใช้คำสั่ง font-family: ‘ชื่อฟ้อนต์’; โดยเราสามารถที่จะดูชื่อฟ้อนต์ที่เราจะใช้อ้างอิงได้จากไฟล์ stylesheet.css ขึ้นมา (หากผู้อ่านเปิดด้วยโปรแกรม Notepad ก็จะเป็นหน้าจอขาวๆ นะคะ ไม่ต้องตกใน แค่เพราะโปรแกรมเลยทำให้สีต่างกัน เอาแค่เปิดเจอโค้ดแบบนี้ถือว่าถูกต้องค่ะ)

font-family-edsensebold

ยกตัวอย่าง หากต้องการใช้ฟ้อนต์ Edsesse (เวอร์ชั่น bold) ใน h1,h2,h3,h4,h5,h6 ก็ใส่เป็น ใน

h1,h2,h3,h4,h5,h6 {
font-family: 'edsensebold' !important;
}

ตรง !important นั้นจะใส่หรือไม่ก็ได้ ตอนแรกอาจจะไม่ใส่ แต่หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นก็ให้ใส่ไปค่ะ เพราะธีมอาจมีการตั้งค่าไว้แล้ว เราใส่  !important เพื่อทำการ override ค่าที่ตั้งมาจากธีมนั่นเอง

การหาคลาสของธีมที่ต้องการใช้งาน

นอกจากแท็กพื้นฐานอย่าง h1 – h6, body แล้ว ธีม WordPress นั้นจะมีการสร้างคลาสต่างๆ สำหรับใช้ในการควบคุมการแสดงผล การหาชื่อคลาสเหล่านี้เราก็จะใช้เครื่องมือ Inspect Element ที่มีมากับทุกบราวเซอร์อยู่แล้ว โดยการคลิกว่าที่ส่วนที่เราต้องการ แล้วเลือก Inspect Element (ตรวจดูส่วนประกอบ)

จากในรูป จะเห็นว่าคลาสของ title ที่เราต้องการนี้ก็คือ entry-title นั่นเอง เวลาเราเขียนโค้ดใน SiteOrigin CSS เราก็จะเขียนว่า

.entry-title {
font-family: 'edsensebold' !important;
}

Seed Fonts

นอกจากนี้เรายังมีวิธีที่ง่ายกว่านั้น โดยการใช้ปลั๊กอิน Seed Fonts จากพี่เม่น เป็นปลั๊กอินที่เขียนโดยคนไทยเราเอง แถมปลั๊กอินยังมีฟ้อนต์ไทยอยู่ในตัวจาก Google Fonts ในตัวแล้ว เราสามารถนำไฟล์ที่เราได้จากการแปลงมาแล้ว นำมาใช้กับปลั๊กอิน Seed Fonts ได้เลย เพียงแต่เปลี่ยนชื่อไฟล์ stylesheet.css เป็น font.css และเปลี่ยนตำแหน่งที่เก็บไฟล์นิดหน่อย ซึ่งพี่เม่นได้ทำวิดีโอเป็นไกล์ไว้ให้แล้ว ลองชมวิดีโอด้านล่างได้เลยค่ะ

Back To Top
Search