Skip to content
4.5
คะแนน

DigitalOcean Simple Cloud Hosting

DigitalOcean คือ VPS (Virtual Private Server) เวอร์ชั่น Cloud ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากความสามารถในการขยับขยายได้ง่ายตลอดเวลา ความเสถียรและความสะดวกในการเคลื่อนย้ายต่างๆ DigitalOcean ถือเป็น Cloud Server ลำดับต้นๆ ที่ให้บริการมานาน มีที่ตั้งเซิฟเวอร์อยู่หลายแห่งทั่วโลก ส่วนประเทศไทยนั้นเราจะเลือกเป็น Singapore ซึ่งเป็นที่ตั้งที่อยู่ใกล้ที่สุด

ข้อดีของการใช้ VPS คือการที่เราไม่ต้องแชร์ทรัพยากรกับคนอื่น ซึ่งหลายคนอาจจะเคยเจอปัญหาเมื่อมีบางเว็บปั่นสคริปต์หรือส่งเมลปริมาณมากเพราะถูกฝังมัลแวร์แล้วทำให้เว็บอื่นๆ ล่มไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับเมื่อตัดสินใจใช้ Share Host จึงอยู่ที่การจัดการของผู้ให้บริการแต่ละเจ้าว่าจะมีจัดการได้ดีแค่ไหน

แต่ข้อเสียของ VPS  ก็คือเราต้องทำการจัดการระบบเองตั้งแต่การติดตั้งระบบสำหรับรันสคริปต์ WordPress ของเรา แต่โชคดีที่ WordPress นั้นมีผู้ใช้งานเยอะ เราจึงมีผู้ใช้บริการบางเจ้าสร้างระบบที่มาช่วยแก้ปัญหานี้ อย่างเช่น ServerPilot ที่เรากำลังจะทำความรู้จัก

Update : Jan/2018
ตอนนี้ DigitalOcean ปรับราคาใหม่เป็นเดือนละ $5 แแต่ได้แรม 1GB ซึ่งดีกว่าแบบเดิมที่ได้แค่ 512 MB มากๆ หรือจะเลือกแบบ Flexible Droplet ที่เพิ่มมาหน่อย แต่ก็คุ้มสุดๆ สำหรับเว็บที่ใช้ทรัพยากรเยอะ แต่ใช้พื้นที่ไม่เกิน 25GB เพราะราคา $15 ต่อเดือนนี้เลือกได้เลยว่าจะเอาแรมหรือ CPU

ServerPilot

ServerPilot คือผู้ให้บริการติดตั้งโปรแกรมต่างๆ ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ โดยรวบแพกเกจต่างๆ สำหรับเซิฟเวอร์และ WordPress มัดรวมกันแล้วติดตั้งทีเดียวเลย เหมือนกับเราใช้ระบบติดตั้งอัตโนมัติ  (lnw install) บน Share Host เลยค่ะ ทำให้การที่จะสร้างเซิฟเวอร์และติดตั้งแพกเกจต่างๆ เพื่อรันเว็บ WordPress นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมากๆ แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน เพราะเราจะไม่มี Control Panel อย่าง DirectAdmin หรือ cPanel บนแชร์โฮ้สต์นั่นเองค่ะ โดย ServerPilot นั้นสามารถใช้ได้กับ VPS หลายเจ้า รวมทั้ง DigitalOcean ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว DigitalOcaean เองนั้นก็สามารถที่จะสั่งติดตั้ง WordPress ได้อยู่แล้ว แต่ว่า ServerPilot จะดีกว่า เพราะมีการปรับแต่งเซิฟเวอร์ให้ดีที่สุดสำหรับ WordPress โดยเราไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องเซิฟเวอร์ในการปรับแต่งเอง และยังฟรีอีกด้วย ใช้เวลาในการติดตั้งไม่ถึง 10 นาที

 

ข้อดีของการใช้ ServerPilot ในการติดตั้ง WordPress

  • ServerPilot นั้นจะติดตั้ง WordPress ของเราบนโดยติดตั้ง Server แบบ Nginx ใช้ FastCGI และ PHP-FPM ซึ่งมีความเร็วและรองรับการใช้งานได้มากกว่า Apache ธรรมดาทั่วไป
  • ServerPilot ปรับแต่งเซิฟเวอร์เป็นแบบ Asynchronous ทำให้สิ้นเปลืองแรมน้อยกว่าเดิม
  • มี PHP หลายเวอร์ชั่นสำหรับการเลือกใช้งาน และเราสามารถที่จะสลับเวอร์ชั่นได้อย่างง่ายดายเมื่อไหร่ก็ได้
  • ไม่กินทรัพยากรของเซิฟเวอร์มากเหมือนการใช้ Control Panel
  • รองรับ HTTP/2 ทำให้เซิฟเวอร์สามารถรับรีเควสจากเว็บบราวเซอร์ได้เป็นจำนวนมากสำหรับเว็บ https
  • สามารถติดตั้ง ssl (https) ได้ฟรีสำหรับแพลน Coach ทำให้เราไม่ต้องซื้อมาใส่เองและไม่ต้องลำบากติดตั้งเองอีกด้วย
  • อัพเดตแพกเกจต่างๆ ของเซิฟเวอร์ให้โดยอัตโนมัติ
  • ใช้ SFTP ในการอัพโหลดดาวน์โหลดไฟล์ระหว่างเครื่องเราและเครื่องเซิฟเวอร์ ปลอดภัยกว่า FTP ทั่วไป
  • ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเซิฟเวอร์หรือเขียนคำสั่งต่างๆ เองเป็น เพราะส่วนใหญ่นั้นตั้งค่ามาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว หรือเราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนผ่าน ServerPilot ได้ง่ายๆ

ServerPilot ไม่ได้เพียงแต่ติดตั้งเซิฟเวอร์ให้เราอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังพ่วงความสะดวกในเรื่องของความปลอดภัยอื่นๆ ด้วย

serverpilot-security

สมัคร DigitalOcean

ทำการสมัคร DigitalOcean ผ่านลิงค์นี้ จะได้รับเงินในระบบ $10 ซึ่งเมื่อเราจ่ายเงินเพื่อเริ่มแพลนเช่น แพลน 5$ ก็จะเท่ากับเราได้ $15 ได้ใช้ฟรีๆ 2 เดือนค่ะ ใส่อีเมลและรหัสผ่านที่ต้องการสร้างแอคเค้าท์ได้เลย

create-account

หลังจากนั้นเราก็จะได้อีเมลมา 2 ฉบับแบบนี้ ให้เราคลิกลิงค์คอนเฟริมที่อีเมลแรกค่ะ ส่วนอีเมลที่ 2 คือแจ้งว่าเราได้รับเครดิต $10 แล้ว

confirm-mail

หลังจากนั้นระบบก็จะให้เราใส่รายละเอียดของการจ่ายเงินค่ะ ใครใช้เครดิตก็เลือกช่องเครดิต แต่ผู้เขียนก็จะใช Paypal นะคะ ก็เลือกว่าจะเติมเข้าไปเท่าไหร่ อาจจะลองด้วย $5 ก็ได้ค่ะ เพราะยังไงก็ได้อีก $10 อยู่แล้วถ้าจะลองเล่นแพลนที่สูงกว่านี้ค่ะ (DigitalOcean มีระบบติดตั้ง WordPress อัตโนมัติเช่นกัน เพียงแต่ต้องเป็นแพลน $10 ขึ้นไป)

การสร้าง Droplet และ เชื่อมต่อกับ Domain

ที่ปุ่ม Create คลิกปุ่ม Droplets

เลือกระบบปฎิบัติการเป็น Ubuntu เวอร์ชั่นล่าสุด 16.04.3 x64

เลือกขนาด เราเลือกแบบเล็กสุด คือ $5/month ตอนนี้เขาให้แรมมา 1GB แล้ว ใจดีจัง

เลือก Region คือ ที่ตั้งเซิฟเวอร์ เราเลือก Singapore ซึ่งใกล้บ้านเราที่สุดแล้ว

ติ๊ก IPv6 และ Monitoring เพิ่มด้วยก็ได้

ตั้งชื่อ Droplet และคลิกปุ่ม Create

ระบบก็จะสร้าง Droplet ให้ และส่งอีเมลเกี่ยวกับการล็อกอินและรหัสที่ต้องใช้งานกับ ssh เพื่อเปลี่ยนรหัสผ่าน ให้เราเก็บไว้ก่อน

ที่เมนู More เลือก Add Domain เพื่อเพิ่มโดเมนของเรา (ซื้อแยกไว้ต่างหากแล้ว DigitalOcean ไม่ได้ขายโดเมน)

ตั้งค่า DNS Record สำหรับโดเมน

ทำการเพิ่มโดเมนเนมของเราเข้าไปในช่อง Enter Domain แล้วคลิกปุ่ม Add Domain

สำหรับ Droplet ที่เปิดการใช้งาน IPv6 ด้วยให้ไปที่แท็บ AAAA เพื่อตั้งค่าสำหรับ IPv6 โดยการใส่ @ ที่ช่อง HOSTNAME แล้วเลือก Droplet ที่เราเพิ่งสร้าง เสร็จแล้วคลิกปุ่ม Create Record

ในแท็บ cname ใส่ www ในช่อง HOSTNAME และ @ ในช่อง IS AN ALIAS OF และคลิกปุ่ม Create Record

ก็จะได้ DNS Record หน้าตาประมาณนี้

ตั้งค่า Nameserver เพื่อชี้โดเมนมาที่ Droplet

จากนั้นให้เราไปที่ผู้ให้บริการ Domain name ของเรา เพื่อตั้งค่า Nameserver ใหม่ให้ชี้มายัง DigitalOcean โดยเราจะเห็นจากช่อง DNS Record ด้านบนว่า Nameserver หรือ NS ของ DigitalOcean นั้นคือ ns1.digitalocean.com, ns2.digitalocean.com, ns3.digitalocean.com ก็ให้นำ 3 ค่านี้ไปใส่ในช่อง Nameserver ของผู้ให้บริการของเรา ในที่นี้เตยใช้บริการของ Name.com

 

ทีนี้ก็รอแค่ให้ DNS อัพเดต ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดได้ค่ะ บางทีไม่กี่นาทีก็เรียบร้อยแล้ว บางทีก็หลายชั่วโมงถึงจะอัพเดตชี้ไปยังโฮ้สต์ใหม่ของเราที่ DigitalOcean

เปลี่ยน Root password ของ Droplet

ขั้นตอนต่อไปคือทำการเปลี่ยนรหัสผ่านของ Droplet ซึ่งเป็นกรณีบังคับจาก DigitalOcean ที่จะให้เราเปลี่ยนทันทีที่ล็อกอินใช้งานครั้งแรก โดยอีเมลจาก DigitalOcean จะระบุรายละเอียดของ Droplet ของเราแบบด้านล่างนี้ ให้เราเข้าใช้งานผ่านทาง Terminal หากใช้ Mac หรือ PuTTy หากใช้ Windows

หรือจะเข้าผ่านทาง Access console ของ DigitalOcean ก็ได้ แต่อาจจะลำบากเวลาพิมพ์รหัสผ่านนิดนึง เพราะต้องพิมพ์ทีละตัวซ้ำถึง 2 รอบ (password, current password) และในขณะที่เราพิมพ์รหัสผ่านเราก็จะมองไม่เห็นอักขระที่เราพิมพ์ลงไป (ภาพประกอบเก่า คนละ droplet นะคะ นำมาให้ดูเป็นตัวอย่าง) โดยการคลิกเมนู​ Access console จากเมนู More

ระบบจะเปิดหน้าจอ Access console ขึ้นมา ให้เรากดปุ่มอะไรก็ได้ 1 ครั้ง ระบบก็จะให้เราใส่ชื่อสำหรับล็อกอินนั่นก็คือ root นั่นเอง เสร็จแล้วก็จะให้เราใส่รหัสผ่าน เราก็เอารหัสจากอีเมลมากรอก แล้ว Enter เขาก็จะให้เราเปลี่ยนรหัสผ่าน โดยการใส่รหัสเดิมอีกครั้ง และตั้งรหัสใหม่ และตามด้วยรหัสใหม่ซ้ำอีกครั้ง

ตรง Login ใส่ root ตรง Password ก็ใส่รหัสผ่านตามอีเมล

ตรง (current) UNIX password ใส่รหัสเดิมอีกครั้ง ตรง Enter new UNIX password ตั้งรหัสใหม่ และตรง Retype new UNIX password ก็ให้ใส่รหัสผ่านใหม่อีกครั้ง

หากใช้ Terminal ก็ง่ายๆ โดยพิมพ์คำสั่ง ssh root@ตามด้วย ip address เสร็จแล้วโปรแกรมก็จะให้ใส่รหัสผ่านและแจ้งให้เราเปลี่ยนรหัสผ่านเช่นกัน แต่สะดวกตรงที่เราสามารถก๊อปปี้รหัสเดิมจากอีเมลไปวางแล้วกด Enter ได้เลย

Terminal

เชือมต่อ ServerPilot กับ Droplet

ลงทะเบียนเพื่อใช้งาน ServerPilot Free

signup-serverpilot
3.1 สมัคร

เราจะได้รับอีเมลเพื่อกดลิงค์ Confirm

confirm-serverpilot

เสร็จแล้วทำการตั้งค่าการเชื่อมต่อกับ Server ด้วยการคลิกที่ปุ่ม Connect a Server

connect-a-server

ให้เรานำ IP Address ที่ได้ก่อนหน้านี้ รวมถึง root password ที่ได้ทำการเปลี่ยนเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้มากรอกในช่องด้านล่าง ส่วนช่องสุดท้ายให้เราสร้างรหัสผ่านสำหรับ SFTP ขึ้นเอง ซึ่งเราจะใช้ในการโอนถ่าย อัพโหลด ดาวน์โหลดไฟล์กับเซิฟเวอร์ผ่านโปรแกรม FileZilla

จากนั้นคลิกปุ่ม Connect to ServerPilot

ระบบก็จะทำการเชื่อมต่อกับ Droplet และติดตั้งแพกเกจต่างๆ ให้เรา จิบน้ำชารอแป๊บเดียว

เสร็จแล้วคลิกที่ปุ่ม + Create App เพื่อทำการติดตั้ง WordPress เพราะ ServerPilot จะติดตั้งแพกเกจโดยเรียกว่า App โดยเซิฟเวอร์เดียวกันอาจจะสร้างหลาย App ก็ได้ เริ่มสร้าง App แรกกันเลย

create-app

กรอกรายละเอียดของแอปตามที่เราต้องการ

Name : ใส่ชื่อแอป อะไรก็ได้ค่ะ
Domain : กรอกโดเมนที่เราจะใช้งาน
ติ๊กที่ช่อง WordPress เพื่อให้ติดตั้ง WordPress ด้วย
Title : กรอก Title ของเว็บสำหรับ WordPress
User : สร้างชื่อผู้ใช้งาน (Admin)
Password : ตั้งรหัสผ่าน
Email : กรอกอีเมล
Runtime : เลือกเวอร์ชั่น PHP ในที่นี้เราเลือก PHP7 ก็พอ
Server, System User ก็ตามที่เขาตั้งไว้ เพราะแพลนฟรีเราจะสร้าง System User ได้เพียงคนเดียว
เสร็จแล้วคลิกปุ่ม Create App ก็เป็นอันเรียบร้อย

สามารถลองเข้าใช้งานเว็บได้ทันทีหาก DNS อัพเดตเรียบร้อยแล้ว สามารถล็อกอินเข้าใช้งานตามปกติโดยใช้ Username และ Password ที่เราได้ตั้งไว้สำหรับ WordPress ตอนสร้างแอปนั่นเอง หากต้องการใช้ https ต้องสมัครแพลน Coach ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเดือนละ $10 ซึ่งก็จะได้ฟีเจอร์อื่นๆ เพิ่มมาด้วย

หากเราคลิกที่เมนู Droplet ใน DigitalOcean ระบบก็จะแสดง Droplet ทั้งหมดที่เราสร้างไว้ และเมื่อคลิกที่ Droplet แต่ละตัวก็จะเข้าสู่หน้าจัดการ Droplet ที่แสดงกราฟมอนิเตอร์ให้เราได้ดูด้วย

 

การใช้งาน SFTP ด้วย FileZilla

SFTP ก็คล้ายกับการ FTP ในการอัพโหลด ดาวน์โหลดไฟล์ไปยังเซิฟเวอร์ เพียงแต่ SFTP นั้นจะมีความปลอดภัยสูงกว่า FTP ทั่วไปนั่นเอง

เปิดโปรแกรม FileZilla ขึ้นมา ทำการเพิ่มข้อมูลการเชื่อต่อใหม่โดยไปที่เมนู File > Site Manager คลิก New Site จากนั้นกรอกรายละเอียดสำหรับเชื่อมต่อกับ Server ของเรา

Host : กรอก ip address
Protocol : เลือกเป็นแบบ SFTP
Logon Type : เลือกแบบ Normal
User : serverpilot
Password : ตามที่ตั้งไว้ในตอนเชื่อมต่อ ServerPilot กับ Sever ของ DigitalOcean
เสร็จแล้วคลิกปุ่ม Connect

ติ๊กที่ช่อง Always trust this host, add this key to the cache แล้วคลิก OK

ไฟล์ WordPress จะอยู่ในโฟลเดอร์ apps/wpthaisuer-life(ชื่อแอป)/public

การกำหนดให้เข้าเว็บผ่าน www หรือ non-www อย่างเดียว

หากต้องการให้เข้าเว็บผ่าน www (http://www.yoursite.com) หรือไม่มี www (http://yoursite.com) สามารถทำการคลิกขวาที่ไฟล์ wp-config.php เลือก View/Edit แล้วแก้ไขโค้ดด้านล่างนี้

โดยการแทนที่ SP_REQUEST_URL เป็น url ที่เราต้องการใช้งาน

define('WP_SITEURL', 'https://www.wpthaiuser.life');
define('WP_HOME', 'https://www.wpthaiuser.life');

การอัพเดตเวอร์ชั่น PHP

หากเราใช้ Share host เราอาจจะไม่สามารถที่จะอัพเดตเวอร์ชั่น php เองได้ ต้องรอให้ทางโฮ้สต์เป็นคนอัพเดตได้ และทางโฮ้สต์ก็มักจะไม่สามารถอัพให้สูงๆ ได้ เพราะโฮ้สต์ต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน อย่างโฮ้สต์ไทย มีคนทำเว็บจำนวนมากที่ทำเว็บกับ php รุ่นเก่า หากทางโฮ้สต์เปลี่ยนก็จะกระทบกับเว็บทั้งหมด ทำให้บางเว็บอาจจะพังได้ แต่การเปลี่ยนไปใช้ PHP 7 นั้นจะทำให้เว็บคุณเร็วขึ้นมาก โดยเฉพาะเมื่อเราล็อกอินเข้าเว็บ เพราะแอดมินจะไม่มีการแคชใดๆ อยู่แล้วด ดังนั้นเราจึงเจอกับการประมวลผลของ PHP ตรงๆ

php7-compare

ภาพจาก https://wpengine.com/

แต่ ServerPilot นั้น เราสามารถที่จะสั่งเปลี่ยนเวอร์ชั่น php ได้ทุกเมื่อค่ะ โดยการล็อคอินที่ ServerPilot แล้วไปที่ Apps เลือกชื่อแอปที่เราได้สร้างไว้ จากนั้นก็จะมี Settings ให้เราเลือก PHP Version ที่ต้องการแล้วกด Update ก็เป็นอันเรียบร้อยค่ะ

change-php

การลบแอป

การลบแอปหรือ WordPress ก็ทำได้ง่ายๆ เช่นกัน เพียงทำเหมือนขั้นตอนการอัพเวอร์ชั่น PHP นั่นแหละค่ะ เพียงแต่คลิกที่ปุ่ม Delete แทน ระบบจะให้เรายืนยัน 2 รอบ ไม่ต้องรีบนะคะ ดูให้ดีๆ ถ้าใครติดตั้งไว้หลายตัว ลบผิดเอาคืนไม่ได้นะ หายไปในพริบตาเลย (ถ้าไม่มีแบ็คอัพ)

delete

การลบ Droplet จาก DigitalOcean

หากเราต้องการลบ Droplet ที่ทำอยู่ ก็สามารถทำได้โดยการคลิกที่ Droplet ที่ต้องการ จากนั้นคลิกปุ่ม Switch Off ซึ่งจะมีกล่องข้อความเตือนให้ยืนยันอีกที การดับเครื่องนี้อาจจะใช้เวลาซักหน่อย

เมื่อดับเครื่องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อกไปก็คลิกที่ Destroy เพื่อทำการทำลาย Droplet นี้ซะ ระบบก็จะให้ยืนยันอีกรอบเช่นกัน

 

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่มีความสนใจใน DigitalOcean และอยากมี Cloud Hosting เป็นของตัวเองแบบผู้เขียน แต่กังวลว่าจะติดตั้งและตั้งค่าเป็นหรือเปล่า เพราะก็ไม่ค่อยจะมีข้อมูลภาษาไทยให้อ่านมากนัก หรืออาจจะแลดูยากเกินไป จริงๆ แล้วก็มี Cloud Hosting อื่นๆ ดีๆ มากมาย เช่น Amazon EC2 ซึ่งก็สามารถใช้ ServerPilot ได้เช่นกัน แต่เรานำเสนอ DigitalOcean เพราะคิดว่าใช้งานง่าย เหมาะกับแนวของเว็บเรา และราคาก็ยังไม่แพงอีกด้วยค่ะ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการย้ายไปโฮ้สต์นอกแบบ Cloud ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

ServerPilot & Cloudways

มีผู้ให้บริการอีกเจ้าหนึ่งที่คล้ายๆ กันกับ ServerPilot แต่เจ้านี้เขาทำการผูกแอคเค้าท์ของเขาเองกับ DigitalOcean และ Server เจ้าอื่นๆ ได้เช่นกัน เพียงแต่เขาใช้ระบบจัดการแบบเบ็ดเสร็จ มี ​Control Panel ต่างๆ ที่เขาได้ทำการพัฒนาขึ้นมาเอง ทำให้สามารถจัดการโฮ้สต์ได้ง่ายและยืดหยุ่นกว่า ServerPilot พอสมควร ซึ่งใครๆ ก็สามารถใช้งานได้ และยังมี Support แบบ Chat อีกด้วย

แต่เนื่องจากเป็นระบบผูกขาด เราไม่สามารถที่จะเลือกแพลนตามราคาจริงของ DigitalOcean ได้ โดย Cloudways ก็จะคิดค่าโฮ้สต์ของ DigitalOcean แล้วก็บวดเพิ่มค่าบริการเพิ่มในทุกๆ แพลน ซึ่งจะต่างจาก ServerPilot ที่เราจะเสียตังค์ถ้าต้องการใช้ SSL และ Monitor ราคา $10/เดือน นอกเหนือจากนั้นเราจะเลือกแพลนราคาไหนของ DigitalOcean ก็ได้ ซึ่ง ServerPilot ไม่มีการคิดเพิ่ม เหมาะกับการที่เราอัพเกรดเซิฟเวอร์เราเพิ่มขึ้น ซึ่งเราจะเสียเฉพาะค่าเซิฟเวอร์ตามจริงนั่นเอง

DigitalOcean + ServerPilot
บทสรุป
จากการใช้งานหลายปี แทบไม่เคยเจอปัญหาเลย โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับ ServerPilot รู้สึกว่าเร็วมาก มีแพลนให้อัพเกรดได้หลากหลายตามความต้องการ มี How to ต่างๆ ให้อ่านเยอะมาก
ข้อดี
ติดตั้งง่าย มีทั้งแบบสำเร็จหรือจะลงผ่าน ServerPilot, Cloudways ก็ดี
เสถียร ไม่ค่อยมีปัญหา มีแจ้งล่วงหน้าหากมีการปรับปรุงระบบ
Singapore server ค่อนข้างใกล้กับไทย ความเร็วในการโหลดแทบไ่ม่ต่างกัน
มี Tutorials และ Documents เยอะ
ราคาไม่แพง
ข้อเสีย
ServerPilot ปรับแต่งได้ไม่มากนัก
4.5
คะแนน
Back To Top
Search